การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์



โรคเกาต์  เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง เกิดจากการมีกรดยูริคในเลือดสูงซึ่งเป็นผลจากพันธุกรรมและภาวะแวดล้อม ส่งผลให้เกิดการสะสมภายในข้อต่างๆ ของร่างกาย ก่อให้เกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน  สาเหตุที่กรดยูริคสูงขึ้นนั้น อาจเป็นผลมาจาก ไตไม่สามารถขับกรดยูริคได้ตามปกติ โดยอาจเป็นปัจจัยทางพันธุกรรม ไตเสื่อมหรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง โดยพิวรีนถูกเผาผลาญให้กลายเป็นกรดยูริคในเลือด มีโรคหรือภาวะที่ผิดปกติของร่างกาย ทำให้เกิดการสลายตัวของเซลล์และอวัยวะที่ผิดปกติ ผู้ชาย ควรมีกรดยูริคในเลือดน้อยกว่า 7 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ผู้หญิง ควรมีกรดยูริคในเลือดน้อยกว่า 6 มิลลิกรัม/เดซิลิตร



การควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์
การควบคุมอาหาร โดยงดอาหารที่เป็นสาเหตุ และการรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ลดอาการ และทำให้มีชีวิติอยู่อย่างมีความสุขอาหารที่ควรงด  ได้แก่
• งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เด็ดขาด เช่น เหล้า เบียร์ เพราะแอลกอฮอล์ทำให้ยูริคสูงขึ้น
• งดอาหารที่มีพิวรีนสูง
• ไม่รับประทานอาหารมันมาก เช่น อาหารที่ทอดอมน้ำมันมาก เนื้อสัตว์ติดมัน เพราะไขมันทำให้ร่างกายขับยูริคได้น้อยลง
• นมถั่วเหลืองชนิดเข้มข้นวันละ 1 ลิตร หรือมากกว่านับว่าปริมาณมากเกิน ทำให้ได้รับพิวรีนมาก ประกอบกับโปรตีนก็สูง ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นการสร้างกรดยูริกภายในร่างกายได้ ควรลดปริมาณการดื่มนมถั่วเหลืองลงให้เหลือวันละ 2 แก้ว
• ควรละเว้นไม่รับประทานส่วนยอดผัก ต้นอ่อนของผัก เช่น ยอดคะน้า ยอดผักหวาน ยอดผักบุ้งจีน หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง ดอกกะหล่ำ สะตอ กระถิน ชะอมผักขม
• งด อาหารหมักที่ใช้ยีสต์เป็นตัวเร่งหรือส่วนประกอบ เช่น เต้าเจี้ยว
• เมล็ดพืชทุกชนิดที่งอกได้จะมียูริกค่อนข้างมาก แม้จะทำให้สุกแล้วก็ตาม ควรงดโดยเฉพาะขณะมีอาการ



การป้องกันและดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคเกาต์
การป้องกันโรคเกาต์ที่สามารถทำได้ คือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคด้วยการไม่รับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่วนการดูแลตัวเองของผู้ป่วย ได้แก่
• พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
• หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เนื้อสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ อาหารทะเลบางชนิด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเน้นรับประทานโปรตีนจากผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ ควรศึกษาอย่างละเอียดว่าอาหารชนิดใดควรหรือไม่ควรรับประทาน หลีกเลี่ยงฟรุกโตสซึ่งพบมากในน้ำอัดลม
• ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน ไม่ควรลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วเพราะอาจเป็นการเพิ่มระดับของกรดยูริกได้
• ดื่มน้ำให้มากเพื่อขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ
• หากมีอาการปวดเฉียบพลันให้พักการใช้ข้อที่อับเสบ แล้วใช้วิธีประคบเย็นช่วยบรรเทาอาการ
• รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 






สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
รพ.ซีจีเอช (พหลโยธิน) 
โทร : 02 552 8777 
E-Mail : com@cgh.co.th

 

สมัครรับข่าวสาร

อัพเดทข้อมูลข่าวสาร แพ็กเกจและโปรโมชั่น ส่งตรงถึงคุณเป็นคนแรก

Top